จดหมายเหตุ (ร.๕ ประพาสต้น )
ตามรอยเสด็จประพาสต้น เมืองสมุทรสงคราม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗)
การเสด็จประพาสหัวเมืองเมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ หรือที่เรียกกันว่า “การเสด็จประพาสต้น” เป็นการเสด็จเพื่อทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามคำแนะนำของหมอหลวง โดยใช้เรือพลับพลาพ่วงเรือไฟไป ถ้าจะประทับแรมที่ไหนก็จอดเรือพลับพลาประทับแรมที่นั่น ทรงต้องการเสด็จประพาสอย่างเงียบๆ โดยไม่ให้ราษฎรรู้จักพระองค์ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดกระบวนเรือที่เรียกกันว่า “กระบวนประพาสต้น” คือทรงเรือมาดเก๋งสี่แจวอย่างที่ข้าราชการใช้กันในขณะนั้น มีเรือประทุน ๔ แจวเป็นเรือเครื่องครัว พ่วงเรือไฟเล็กไปเพียง ๒ ลำ
การเสด็จ มีพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ตามเสด็จอีกหลายพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงนครราชสีมา สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัคร ราชเทวี สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ฯลฯ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงมูลเหตุของการเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓ ไว้ใน “จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น” ว่า
…เมื่อก่อนจะเสด็จขึ้นมาบางปะอิน พระเจ้าอยู่หัวไม่ใคร่จะทรงสบาย หมายจะเสด็จขึ้นมาพักรักษาพระองค์ตามเคย ก็มีพระราชกังวลและพระราชกรณียกิจติดตามขึ้นมา… หมอเห็นว่าจะต้องเสด็จประพาสเที่ยวไปให้พ้นความรำคาญ อย่าให้เป็นพระราชธุระในราชกิจอย่างใด ๆ เสียสักคราวหนึ่งจึงจะรักษาพระองค์ให้ทรงสบายได้ดังเก่าโดยเร็ว เจ้านายผู้ใหญ่ที่มาตามเสด็จจึงพร้อมกันกราบบังคมทูลให้ทรงระงับพระราชธุระเสด็จประพาสตามคำแนะนำของหมอ ทรงดำริเห็นชอบด้วย จึงจะเสด็จไปประพาสตามลำน้ำด้วยกระบวนเรือปิ๊กนิกพ่วงเรือไฟไปจากบางปะอินนี้…ทราบว่าการเสด็จครั้งนี้เจ้ากระทรวงท่านห้ามปรามไม่ให้จัดการรับเสด็จตามทางราชการ จะให้เป็นการเสด็จอย่างเงียบ ๆแล้วแต่พอพระราชหฤทัยจะเสด็จที่ใด หรือประทับที่ใดได้ตามพระราชประสงค์”
ส่วนที่มาของคำว่า “เสด็จประพาสต้น” นั้น ทรงเล่าว่า
“…ไปจนถึงวัดเพลงจึงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวได้ลำ ๑ พระราชทานชื่อว่าเรือต้น ได้ยินรับสั่งถามให้แปลกันว่าเรือต้นแปลว่ากระไร บางท่านแปลว่าเรือเครื่องต้น บางท่านแปลว่าเรือทรงอย่างในเห่เรือว่า “ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” ดังนี้ แต่บางท่านก็แปลเอาตื้น ๆ ว่าหลวงนายศักดิ์เป็นคนคุมเครื่องมหาดเล็กตามเสด็จ หลวงนายศักดิ์ชื่ออ้น รับสั่งเรียกว่า ตาอ้น ตาอ้น เสมอ คำว่าเรือต้นนี้ก็จะแปลว่า เรือตาอ้นนั้นเอง แปลชื่อเรือต้นกันเป็นหลายอย่างดังนี้ อย่างไรจะถูกฉันก็ไม่ทราบแน่… เริ่มเรียกการประพาสวันนี้ว่าประพาสต้น เลยเป็นมูลเหตุที่เรียกการประพาสไปรเวตในวันหลัง ๆ ว่าประพาสต้นต่อมา”
เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณศิลป์ พีรพันธุ์
…………………………………………………………………………………………………….
การเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม
สมัยโบราณนั้นที่ว่าการอำเภออัมพวาเป็นของหลวงยังไม่มี นายอำเภอต้องปลูกบ้านเรือนของตนเองอยู่อาศัย แล้วใช้บ้านนายอำเภอนั้นเองเป็นที่ว่าการอำเภอด้วย นายอำเภออัมพวาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นนั้น ปลูกบ้านอยู่ตรงหัวแหลม ตรงข้ามกับวัดท้องคุ้งปัจจุบัน นายอำเภอผู้นั้นมีนามว่า ขุนวิชิตสมรรถการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ ได้เสด็จไปประทับที่บ้านถึงสองครั้งพร้อมด้วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
มีเรื่องเล่าอยู่ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นว่า ดังนี้
“ เรือไฟลากล่องมาถึงแม่น้ำใหญ่จวนจะค่ำ หาที่ทำครัวเย็นก็ไม่ได้เหมาะ ล่องเรือลงมาเห็นบ้านแห่งหนึ่งสะอาดสะอ้านดี มีเรือนแพอยู่ริมน้ำ รับสั่งว่า ที่นี่เห็นพอจะอาศัยเขาทำครัวสักครั้งหนึ่ง ได้ให้กรมหลวงดำรง รับหน้าที่ขึ้นไปขออนุญาตต่อเจ้าของบ้าน กรมหลวงดำรงเสด็จขึ้นไต่ถาม ได้ความว่าเป็นบ้านนายอำเภอ นายอำเภอไปจัดฟืนเรือไฟที่ตรงข้ามบ้านอยู่แต่ภรรยา หารู้จักกรมหลวงดำรงไม่ ขออนุญาตทำครัวที่เรือนแพได้ดังที่ปรารถนา พอขนของขึ้นเรือนแพแล้ว กรมหลวงดำรงยังไม่ทันเสด็จลงมาจากเรือนใหญ่นายอำเภอก็กลับมาถึงไม่ทันเหลียวแลพระเจ้าอยู่หัวที่เรือนแพ มุ่งหน้าตรงขึ้นไปถวายคำนับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่เรือนใหญ่ นายอำเภอเพ็ดทูลกรมหลวงดำรงยังไม่ทันได้กี่คำ นายอัษฎาวุธ ก็คลานศอกนำหนังสือรับสั่งไปถวายกรมหลวงดำรงว่า ขอให้เขารู้จักแต่กรมหลวงดำรงพระองค์เดียว ฉันนั่งดูท่านายอัษฎาวุธคลานเข้าเฝ้ากรมหลวงดำรง ทำท่าทางสนิทราวกับเป็นข้าไทย แต่กรมหลวงดำรงนั้นพออ่านหนังสือรับสั่งแล้วดูพระพักตร์สลด เห็นประทับนิ่งไม่รับสั่งว่ากระไร เป็นแต่พยักพระพักตร์ให้นายอัษฎาวุธกลับลงมา อีกสักครู่หนึ่งจึงได้ยินเสียงรับสั่งกับนายอำเภอและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถึงราชการงานเมืองอะไรอึงอยู่บนเรือน พวกกองครัวก็ทำครัวกันอยู่ที่เรือนแพ ทำเสร็จแล้วแต่งเครื่องให้คุณหลวงนายศักดิ์ เชิญขึ้นไปตั้งถวาย กรมหลวงดำรงเสวยพร้อมกับเครื่องเคราที่เจ้าของบ้านเขาหาถวาย ครั้นเสร็จแล้วเมื่อจะลงเรือ กรมหลวงดำรงเสด็จกลับจะลงเรือ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามลงมาส่งเสด็จรุมมาตุ้ม พวกที่ไปตามเสด็จรับกระแสรับสั่งไว้ให้คลานรับเสด็จกรมหลวงดำรงเป็นอย่างข้าในกรม ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหลบออกไปบังเสียอยู่หลังเก๋งท้ายเรือ พระราชทานอาสน์ไว้สำหรับกรมหลวงดำรงประทับ กรมหลวงดำรงเลยทรงไถลว่าเดือนหงายสบายดี จะยืนอยู่หน้าเก๋ง รีบสั่งให้ออกเรือ แต่พอพ้นหน้าบ้านก็รับสั่งบ่นใหญ่ว่าเล่นอย่างนี้ไม่สนุก แต่คนอื่นพากันหัวเราะกรมหลวงดำรงทั้งลำ…”
พระนามในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นนี้ กรมหลวงดำรง คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในเวลานั้นยังเป็นกรมหลวงตามเสด็จในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยด้วย
นายอัษฎาวุธ คือ สมเด็จพระเจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามเสด็จด้วย
คุณหลวงนายศักดิ์ คือ พระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ)
เป็นอันว่าครั้งนี้นายอำเภอไม่ได้เฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่เสด็จประทับอยู่บนบ้าน ได้เฝ้าแต่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทราบภายหลังคงจะเสียใจอยู่เหมือนกัน เสด็จครั้งนี้คือ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๔๗
แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นเมื่อเสด็จประพาสสมุทรสงครามอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ก็ทรงระลึกถึงขุนวิชิตสมรรถการจึงได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนนายอำเภออัมพวาที่บ้านอีกหนหนึ่ง เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๔๕ ทรงจดหมายเหตุไว้ว่า “แวะเยี่ยมขุนวิชิตสมรรถการ นายอำเภอ ซึ่งได้เคยปลอมไปบ้านเขาเมื่อมาเที่ยวครั้งก่อน”
เส้นทางและสถานที่สำคัญในการเสด็จประพาสต้น
การเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) เป็นการเสด็จทางชลมารคและทางรถไฟเป็นหลัก มีจุดเริ่มต้นจากพระราชวังบางปะอินเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ผ่านจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ธนบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กลับสู่บางปะอิน แล้วเสด็จโดยทางรถไฟกลับสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๗
ในการเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านและประพาสสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
-
- ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยทางชลมารค ออกจากบางปะอินมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เสด็จประพาสวัดปรมัยยิกาวาส และสวนกระท้อนของนายบุตรที่แม่น้ำอ้อม แล้วเสด็จต่อไปยังวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ประทับแรมที่หน้าวัด - ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จเข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองภาษีเจริญ ประทับแรมหน้าวัดหนองแขม จังหวัดธนบุรี - ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จเข้าคลองดำเนินสะดวก หลักหก ประทับแรมที่วัดโชติทายการาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ทรงเรือเล็กประพาสทุ่ง และทรงแวะบ้านยายผึ้งและเจ๊กฮวด - ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จจากวัดโชติทายการาม ออกสู่แม่น้ำแม่กลอง ถึงเมืองราชบุรี ประทับพักที่หน้าบ้านเทศา แล้วเสด็จโดยรถไฟผ่านบ้านปากท่อ ถึงเมืองเพชรบุรี เสวยพระกระยาหารค่ำแล้วเสด็จกลับเมืองราชบุรีโดยทางรถไฟ - ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จประพาสตลาดเมืองราชบุรี แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรแห่นาคที่วัดสัตนาถ ช่วงบ่ายทรงเรือมาด ๔ แจว มีเรือไฟเล็กลากล่องน้ำประพาสแม่น้ำอ้อม ถึงบ้านวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ทรงซื้อเรือมาด ๔ แจว พระราชทานชื่อว่าเรือต้น - ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยเรือมาดแจวประพาสทุ่งทางฝั่งตะวันออกของเมืองราชบุรี - ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยรถไฟชั้น ๓ ปะปนกับราษฎร ไปยังเมืองโพธาราม เสวยพระกระยาหารค่ำ แล้วประทับเรือประทุน ๒ แจวที่เช่าเหมาลำล่องกลับเมืองราชบุรี - ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จประพาสตลาดราชบุรี แล้วเสด็จโดยเรือมาด ๔ แจว มีเรือต้นที่ซื้อใหม่เป็นเรือพระที่นั่งรอง พ่วงเรือไฟเล็กเข้าทางแม่น้ำอ้อม ประพาสตลาดปากคลองวัดประดู่ เสด็จเข้าคลองประดู่ ประทับเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดประดู่ จังหวัดสมุทรสงคราม ทรงแวะบ้านตาหมอสี แล้วเสด็จไปตามแม่น้ำอ้อมออกสู่แม่น้ำแม่กลอง ประทับเสวยพระกระยาหารค่ำที่บ้านนายอำเภออัมพวาโดยไม่แสดงพระองค์ให้นายอำเภอและชาวบ้านทราบ ประทับแรมที่เมืองสมุทรสงคราม - ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จทอดพระเนตรวัดพวงมาลัย อำเภอเมือง สมุทรสงคราม ประพาสตลาดคลองอัมพวา วัดดาวดึงส์ หมู่บ้านย่านท่าคา อำเภออัมพวา แล้วเสด็จกลับที่ประทับแรมเมืองสมุทรสงครามผ่านทางคลองแม่กลอง - ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จที่ว่าการเมืองสมุทรสงคราม และวัดอัมพวันเจติยาราม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม - ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จลงเรือฉลอม ประพาสละมุบริเวณปากอ่าวแม่กลอง แล้วเสด็จออกจากปากน้ำแม่กลองเข้าสู่ปากน้ำบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เสด็จลงเรือไฟศรีอยุธยาแล่นไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ประทับบ้านพระยาสุรพันธ์ - ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จประพาสทางเรือข้างเหนือน้ำ - ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จทางเรือประพาสบางทะลุ ประทับแรมที่บางทะลุ จังหวัดเพชรบุรี - ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยเรือฉลอมจากบางทะลุออกทะเลมาเข้าบ้านแหลม กลับสู่เมืองเพชรบุรี - ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จประพาสพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี - ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จประพาสวัดต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี แล้วเสด็จโดยกระบวนเรือใหญ่ล่องไปประทับแรมที่บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี - ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยเรือเป็ดทะเลออกจากปากน้ำบ้านแหลม ผ่านปากน้ำแม่กลอง บ้านโรงกุ้ง ถึงท่าจีน ประพาสตลาดท่าฉลอม เสวยพระกระยาหารค่ำที่วัดโกรกกราก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร - ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยกระบวนต้นออกจากเมืองสมุทรสาครไปตามลำน้ำท่าจีน เสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดบางปลา จังหวัดสมุทรสาคร เสวยพระกระยาหารค่ำที่วัดตีนท่า ประทับแรมที่บ้านงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม - ๑ สิงหาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยทางรถไฟประพาสพระปฐมเจดีย์ แล้วเสด็จโดยทางเรือประพาสวัดพระประโทน พิพิธภัณฑ์วัดพระประโทน เสวยพระกระยาหารค่ำที่บ้านพระยาเวียงไนย ประทับแรมที่บ้านงิ้วราย - ๒ สิงหาคม ๒๔๔๗
เสด็จประพาสคลองภาษี แล้วเสด็จมาประทับแรมที่บ้านสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี - ๓ สิงหาคม ๒๔๔๗
เสด็จประพาสบ้านสองพี่น้อง เสวยพระกระยาหารเย็นที่วัดบางสาม ประทับแรมหน้าวัดบางบัวทอง (ปัจจุบันคือวัดรางบัวทอง) จังหวัดสุพรรณบุรี - ๔ สิงหาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยกระบวนเรือไฟ ผ่านบางปลาม้า แล้วเสด็จต่อโดยเรือแจวไปถึงเมืองสุพรรณบุรี ประทับที่สุขุมาราม (บ้านเจ้าคุณสุขุม) แล้วเสด็จประพาสข้างเหนือน้ำ เสวยพระกระยาหารค่ำที่วัดแค ประทับแรมที่เมืองสุพรรณบุรี - ๕ สิงหาคม ๒๔๔๗
เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองสุพรรณบุรี วัดมหาธาตุ หลักเมือง และวัดป่าเลไลยก์ แล้วเสด็จโดยทางเรือล่องมาประทับแรมที่บางปลาม้า ทรงเรือพระที่นั่งเล็กประพาสทางใต้ ประทับเสวยพระกระยาหารค่ำที่วัดบางยี่หน - ๖ สิงหาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยกระบวนเรือใหญ่ เข้าคลองบางปลาม้า คลองจระเข้ใหญ่ ถึงบ้านผักไห่ ประทับแรมที่บ้านหลวงวารี ทรงเรือเมล์ของหลวงวารีประพาสข้างเหนือน้ำ - ๗ สิงหาคม ๒๔๔๗
เสด็จโดยกระบวนต้นขึ้นไปทางบางโผงเผง จังหวัดอ่างทอง ผ่านบางหลวงอ้ายเอียง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เสวยพระกระยาหารเช้าที่บ้านนายช้าง นางพลับ ก่อนเสด็จสู่บางปะอิน แล้วจึงเสด็จโดยรถไฟพิเศษกลับสู่กรุงเทพฯ
- ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๔๗